วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของ GIS กับการพัฒนาอุบล



        ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System : GIS คือกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศ ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ สัมพันธ์กับตำแหน่งในแผนที่ ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ข้อมูลและแผนที่ใน GIS เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในรูปของตารางข้อมูล และฐานข้อมูลที่มีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS และทำให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาได้ เช่น การแพร่ขยายของโรคระบาด การเคลื่อนย้าย ถิ่นฐาน การบุกรุกทำลาย การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปลและสื่อความหมาย ใช้งานได้ง่าย 
        จากคำขวัญของจังหวัดอุบลราชธานีที่ว่า “อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี      มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล” จะเห็นได้ว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย  นอกจากนี้ยังมีมีพื้นที่ที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยอีกด้วย  ระบบ GIS จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำมาพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี  นำมาพัฒนาในส่วนของระบบข้อมูลเชิงแผนที่ในด้านสิ่งแวดล้อม      
ซึ่งระบบฐานข้อมูลเชิงแผนที่ด้านสิ่งแวดล้อมนี้  เป็นระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์
เพื่อประกอบและสนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดได้  โดยมีฐานข้อมูลในเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณหรือตัวเลขเชื่อมโยงกับตำแหน่งภูมิศาสตร์ภายในจังหวัด   ซึ่งสามารถให้รายละเอียดในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณสมบัติต่างๆ ในจังหวัดว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง สภาพเป็นอย่างไร  มีองค์ประกอบของสิ่งข้างเคียงอะไรบ้าง สามารถทำให้เห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจนทำให้การวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพอสรุปประโยชน์ที่จะ ได้รับดังนี้
1.การแสดงแผนที่เฉพาะกิจ เพื่อแสดงกิจกรรมของประชากรในจังหวัดอุบลราชธานี ในรูปแบบของการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งแสดงตำแหน่งที่ตั้งว่ากระจายอยู่บริเวณใดบ้างสามารถมองภาพรวมของการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
2.การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ว่าเป็นอะไร  อยู่ที่ไหน  มีปริมาณและคุณภาพเป็นอย่างไรหรือ มีอะไร เช่น เป็นพื้นที่ป่าไม้ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
3.การวัดและนับปริมาณ เช่น คำนวณพื้นที่ของอำเภอ ของพื้นที่นาข้าว คำนวณความยาวของถนน หรือคำนวณความหนาแน่น เป็นต้น
4. การวิเคราะห์แนวกันชนรอบจุด หรืออาณาบริเวณที่จะได้รับผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆ หรือแสดงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาต่างๆ 
5.การซ้อนข้อมูล หรือแผนที่หลายๆ ชั้น ทำให้ได้ข้อมูลหลายปัจจัยในพื้นที่เดียวกันสามารถวิเคราะห์สภาพพื้นที่บริเวณเดียวกันจากหลายปัจจัยได้ในเวลาอันสั้น
6.การสร้างแบบจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถให้คำตอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น แบบจำลองความสูงของพื้นที่ ทำให้ทราบความสูงต่ำของพื้นที่    ภูมิประเทศความลาดชัน สามารถวิเคราะห์พื้นที่จะเกิดการ พังทลายดินสูง เป็นต้น
7.การปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยได้อย่างง่ายและมีมาตรฐาน ทำให้สามารถติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังสามารถเก็บรักษาและเรียกแสดงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมีความถูกต้องตลอดจนสามารถแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น